วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

โครงงานวิทยาศาสตร์


วิชา  วิทยาศาสตร์ ( พว 31001 )  ระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย

เรื่อง ประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาค้นคว้า  โดยผู้เรียนจะเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองทั้งหมด  ตั้งแต่เริ่มวางแผนในการศึกษาค้นคว้า   การเก็บรวบรวมข้อมูล  จนถึงเรื่องการแปลผล  สรุปผล  และเสนอผลการศึกษา  โดยมีผู้ชำนาญการเป็นผู้ให้คำปรึกษา

ลักษณะและประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์   จำแนกได้เป็น  4  ประเภท  ดังนี้
1. โครงงานประเภทสำรวจ  เป็นโครงงานที่มีลักษณะเป็นการศึกษาเชิงสำรวจ  รวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดกระทำและนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ  ดังนั้นลักษณะสำคัญของโครงงานประเภทนี้คือ  ไม่มีการจัดทำหรือกำหนดตัวแปรอิสระที่ต้องการศึกษา
2. โครงงานประเภททดลอง  เป็นโครงงานที่มีลักษณะกิจกรรมที่เป็นการศึกษาหาคำตอบของปัญหาใดปัญหาหนึ่งด้วยวิธีการทดลอง ลักษณะสำคัญของโครงงานนี้คือ  ต้องมีการออกแบบการทดลองและดำเนินการทดลองเพื่อหาคำตอบของปัญหาที่ต้องการทราบหรือเพื่อตรวจสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยมีการจัดกระทำกับตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ เพื่อดูผลที่เกิดขึ้นกับตัวแปรตาม  และมีการควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการศึกษา
3. โครงงานประเภทการพัฒนาหรือประดิษฐ์  เป็นโครงงานที่มีลักษณะกิจกรรมที่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ ทฤษฎี หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ หรืออุปกรณ์เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นการประดิษฐ์ของใหม่ ๆ หรือปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  ซึ่งจะรวมไปถึงการสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายแนวคิด
4. โครงงานประเภทการสร้างทฤษฎีหรืออธิบาย  เป็นโครงงานที่มีลักษณะกิจกรรมที่ผู้ทำจะต้องเสนอแนวคิด หลักการ หรือทฤษฎีใหม่ ๆ อย่างมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ในรูปของสูตรสมการหรือคำอธิบายอาจเป็นแนวคิดใหม่ที่ยังไม่เคยนำเสนอ หรืออาจเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ในแนวใหม่ก็ได้  ลักษณะสำคัญของโครงงานประเภทนี้ คือ ผู้ทำจะต้องมีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี  ต้องค้นคว้าศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง จึงจะสามารถสร้างคำอธิบายหรือทฤษฎีได้




เรื่อง  ขั้นตอนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์

การทำกิจกรรมโครงงานเป็นการทำกิจกรรมที่เกิดจากคำถามหรือความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ดังนั้นการทำโครงงานจึงมีขั้นตอนดังนี้
1.ขั้นสำรวจหรือตัดสินใจเลือกเรื่องที่จะทำ
การตัดสินใจเลือกเรื่องที่จะทำโครงงานควรพิจารณาถึงความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่นแหล่งความรู้เพียงพอที่จะศึกษาหรือขอคำปรึกษา  มีความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษา มีผู้ทรงคุณวุฒิรับเป็นที่ปรึกษา มีเวลา และงบประมาณเพียงพอ
 2.ขั้นศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตัดสินใจทำ
การศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตัดสินใจทำ  จะช่วยให้ผู้เรียนได้แนวคิดที่จะกำหนดขอบข่ายเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นและยังได้ความรู้  เรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจนสามารถออกแบบการศึกษา ทดลอง และวางแผนดำเนินการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างเหมาะสม
 3.ขั้นวางแผนดำเนินการ
การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ไม่ว่าเรื่องใดจะต้องมีการวางแผนอย่างละเอียด  รอบคอบ และมีการกำหนดขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างรัดกุม ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้  ประเด็นที่ต้องร่วมกันคิดวางแผนในการทำโครงงานมีดังนี้ คือ ปัญหา สาเหตุของปัญหา แนวทาง และวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถปฏิบัติได้  การออกแบบการศึกษาทดลองโดยกำหนดและควบคุมตัวแปร วัสดุอุปกรณ์และสารเคมี เวลา และสถานที่จะปฏิบัติงาน
 4.ขั้นเขียนเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์
การเขียนเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์มีรายละเอียดดังนี้
4.1 ชื่อโครงงาน เป็นข้อความสั้น ๆ กะทัดรัด ชัดเจน สื่อความหมายตรง และมีความเฉพาะเจาะจงว่าจะศึกษาเรื่องใด
4.2 ชื่อผู้ทำโครงงาน  เป็นผู้รับผิดชอบโครงงาน ซึ่งอาจเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มก็ได้
4.3 ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน ซึ่งเป็นอาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้
4.4 ที่มาและความสำคัญของโครงงาน เป็นการอธิบายเหตุผลที่เลือกทำโครงงานนี้ ความสำคัญของโครงงาน แนวคิด หลักการ หรือทฤษฎีที่เกี่ยวกับโครงงาน
4.5 วัตถุประสงค์โครงงาน เป็นการบอกจุดมุ่งหมายของงานที่จะทำ ซึ่งควรมีความเฉพาะเจาะจงและเป็นสิ่งที่สามารถวัดและประเมินผลได้
4.6 สมมติฐานของโครงงาน(ถ้ามี)สมมติฐานเป็นคำอธิบายที่คาดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะผิดหรือถูกก็ได้ สมมติฐานที่ดีควรมีเหตุผลรองรับ และสามารถทดสอบได้
4.7 วัสดุอุปกรณ์และสิ่งที่ต้องใช้  เป็นการระบุวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นใช้ในการดำเนินงานว่ามีอะไรบ้าง ได้มาจากไหน
4.8 วิธีดำเนินการ  เป็นการอธิบายขั้นตอนการดำเนินงานอย่างละเอียดทุกขั้นตอน
4.9 แผนปฏิบัติการ เป็นการกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาเสร็จงานในแต่ละขั้นตอน
4.10 ผลที่คาดว่าจะได้รับ  เป็นการคาดการณ์ผลที่จะได้รับจากการดำเนินงานไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจได้ผลตามที่คาดไว้หรือไม่ก็ได้
4.11 เอกสารอ้างอิง  เป็นการบอกแหล่งข้อมูลหรือเอกสารที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
5.ขั้นลงมือปฏิบัติ
  การลงมือปฏิบัติเป็นขั้นตอนที่สำคัญตอนหนึ่งในการทำโครงงานเนื่องจากเป็นการลงมือปฏิบัติจริงตามแผนที่ได้กำหนดไว้ในเค้าโครงของโครงงาน  อย่างไรก็ตามการทำโครงงานาจะสำเร็จได้ด้วยดี ผู้เรียนจะต้องคำนึงถึงเรื่องความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอื่น ๆ เช่นสมุดบันทึกกิจกรรมประจำวัน ความละเอียดรอบคอบและความเป็นระเบียบในการปฏิบัติงาน  ความประหยัดและความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงาน การเรียงลำดับก่อนหลังของงานส่วนย่อย ๆ ซึ่งต้องทำแต่ละส่วนให้เสร็จก่อนทำส่วนอื่นต่อไปในขั้นลงมือปฏิบัติจะต้องมีการบันทึกผล  การประเมินผล การวิเคราะห์ และสรุปผลการปฏิบัติ

6.ขั้นเขียนรายงานโครงงาน
  การเขียนรายงานการดำเนินงานของโครงงาน ผู้เรียนจะต้องเขียนรายงานให้ชัดเจน ใช้ศัพท์เทคนิคที่ถูกต้อง ใช้ภาษากะทัดรัด ชัดเจน เข้าใจง่าย และต้องครอบคลุมประเด็นสำคัญ ๆ ทั้งหมดของโครงงานได้แก่ ชื่อโครงงาน ชื่อผู้ทำโครงงาน ชื่อที่ปรึกษา บทคัดย่อ ที่มาและความสำคัญของโครงงาน จุดหมาย สมมติฐาน วิธีดำเนินงาน ผลการศึกษาค้นคว้า ผลสรุปของโครงงาน ข้อเสนอแนะ คำขอบคุณบุคลากรหรือหน่วยงานและเอกสารอ้างอิง

7.ขั้นเสนอผลงานและจัดแสดงผลงานโครงงาน
หลังจากทำโครงงานวิทยาศาสตร์เสร็จแล้วจะต้องนำผลงานที่ได้มาเสนอและจัดแสดง ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการ การประชุมทางวิชาการ เป็นต้น ในการเสนอผลงานและจัดแสดงผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ ควรนำเสนอให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ๆ ทั้งหมดของโครงงาน
การทำแผงสำหรับแสดงโครงงานให้ใช้ไม้อัดมีขนาด 60 x 120 เซนติเมตร
                                             
ติดบานพับมีห่วงรับและขอสับทำมุมฉากกับตัวแผงกลาง
ขั้นตอนการเขียนโครงงานวิทยาศาสตร์
1) ชื่อโครงงาน.....................................................................................................................
2) ผู้ทำโครงงาน...................................................................................................................
3) ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา..........................................................................................................
4) คำนำ
5) สารบัญ
6) บทที่ 1  บทนำ
- ที่มาและความสำคัญ
- วัตถุประสงค์
- ตัวแปรที่ศึกษา
- สมมติฐาน
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
7) บทที่  2  เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำโครงงาน
8) บทที่  3  วิธีการศึกษา/ทดลอง
- วัสดุอุปกรณ์
- งบประมาณ
- ขั้นตอนการดำเนินงาน
- แผนปฏิบัติงาน
9) บทที่  4  ผลการศึกษา/ทดลอง
- การทดลองได้ผลอย่างไรบ้าง
10) บทที่  5  สรุปผลและข้อเสนอแนะ
- ข้อสรุปผลการทดลอง
- ข้อเสนอแนะ
11) เอกสารอ้างอิง


เรื่อง การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์

การแสดงผลงานจัดได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำโครงงานเรียกได้ว่าเป็นงานขั้นสุดท้ายของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นการแสดงผลิตผลของความคิด และการปฏิบัติการทั้งหมดที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเทเวลาไป และเป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจถึงผลงานนั้น ๆ มีผู้กล่าวว่าการวางแผนออกแบบเพื่อจัดแสดงผลงานนั้นมีความสำคัญเท่า ๆ กับการทำโครงงานนั้นเอง  ผลงานที่ทำจะดียอดเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าการจัดแสดงผลงานทำได้ไม่ดี ก็เท่ากับไม่ได้แสดงความดียอดเยี่ยมของผลงานนั้นนั่นเอง
การแสดงผลงานนั้นอาจทำได้ในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น การแสดงในรูปนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งการาจัดแสดงและการอธิบายด้วยคำพูด  หรือในรูปแบบของการจัดแสดงโดยไม่มีการอธิบายประกอบหรือในรูปของการรายงานปากเปล่า  ไม่ว่าการแสดงผลงานจะอยู่ในรูปแบบใด  ควรจะจัดให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1. ชื่อโครงงาน ชื่อผู้ทำโครงงาน ชื่อที่ปรึกษา
2. คำอธิบายถึงเหตุจูงใจในการทำโครงงาน และความสำคัญของโครงงาน
3. วิธีการดำเนินการ โดยเลือกเฉพาะขั้นตอนที่เด่นและสำคัญ
4. การสาธิตหรือแสดงผลที่ได้จากการทดลอง
5. ผลการสังเกตและข้อมูลเด่น ๆ ที่ได้จากการทำโครงงาน
ในการจัดนิทรรศการโครงงานนั้น ควรได้คำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
- ความปลอดภัยของการจัดแสดง
- ความเหมาะสมกับเนื้อที่จัดแสดง
- คำอธิบายที่เขียนแสดงควรเน้นประเด็นสำคัญ และสิ่งที่น่าสนใจเท่านั้น โดยใช้ข้อความกะทัดรัด ชัดเจน และเข้าใจง่าย
- ดึงดูดความสนใจผู้เข้าชม โดยใช้รูปแบบการแสดงที่น่าสนใจ ใช้สีที่สดใส เน้นจุดที่สำคัญหรือใช้วัสดุต่างประเภทในการจัดแสดง
- ใช้ตารางและรูปภาพประกอบ โดยจัดวางอย่างเหมาะสม
- สิ่งที่แสดงทุกอย่างต้องถูกต้อง ไม่มีการสะกดผิดหรืออธิบายหลักการที่ผิด
- ในกรณีที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ สิ่งนั้นควรอยู่ในสภาพที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์

ในการแสดงผลงาน ถ้าผู้นำผลงานมาแสดงจะต้องอธิบายหรือรายงานปากเปล่าหรือคำถามต่าง ๆ จากผู้ชมหรือต่อกรรมการตัดสินโครงงาน การอธิบายตอบคำถาม หรือรายงานปากเปล่านั้น ควรได้คำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. ต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่อธิบายเป็นอย่างดี
2. คำนึงถึงความเหมาะสมของภาษาที่ใช้กับระดับผู้ฟัง ควรให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย
3. ควรรายงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม
4. พยายามหลีกเลี่ยงการอ่านรายงาน แต่อาจจดหัวข้อสำคัญ ๆ ไว้เพื่อช่วยให้การรายงานเป็นไปตามขั้นตอน
5. อย่าท่องจำรายงานเพราะทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ
6. ขณะที่รายงานควรมองตรงไปยังผู้ฟัง
7. เตรียมตัวตอบคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
8. ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ได้ถาม
9. หากติดขัดในการอธิบาย ควรยอมรับโดยดี อย่ากลบเกลื่อน หรือหาทางหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น
10. ควรรายงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
11. หากเป็นไปได้ควรใช้สื่อประเภทโสตทัศนูปกรณ์ ประกอบการรายงานด้วย เช่น แผ่นใส หรือสไลด์ เป็นต้น

 ข้อควรพิจารณาและคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวมาในการแสดงผลงานนั้น จะคล้ายคลึงกันในการแสดงผลงานทุกประเภท  แต่อาจแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยเพียงเล็กน้อย สิ่งสำคัญก็คือ พยายามให้การแสดงผลงานนั้นดึงดูดความสนใจผู้ชม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย และมีความถูกต้องในเนื้อหา