ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งจะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ สร้างความเท่าเทียม และทั่วถึงในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน โดยโครงการเน็ตประชารัฐจะเป็นการพลิกโฉมกระจายความเจริญ และสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับชุมชนในการพัฒนาหมู่บ้าน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้เข้มแข็ง พัฒนาโอกาสในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษา การสาธารณสุข และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ โดยเมื่อทีโอทีติดตั้งครบทั้งโครงการฯ จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศที่เป็นถนนดิจิทัล ผ่านระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงความยาวรวมกว่า 131,320 กิโลเมตร ไปตามหมู่บ้านที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตจำนวน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีพื้นที่จังหวัดถึง 20 จังหวัดและมีประชากรมากกว่าภาคอื่น ๆ มีสัดส่วนการติดตั้งเน็ตประชารัฐสูงถึง 13,435 หมู่บ้าน คิดเป็น 55% รองลงมาคือภาคเหนือและภาคใต้ติดตั้งจำนวนที่เท่ากันคือภาคละ 4,398 หมู่บ้าน คิดเป็น 18% ภาคกลางจำนวน 2,072 หมู่บ้าน (8%) ภาคตะวันออก จำนวน 1,542 หมู่บ้าน (6%) และนครหลวง จำนวน 81 หมู่บ้าน ทั้งนี้ โครงการเน็ตประชารัฐจะสามารถกระจายให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านตามโครงการฯ ได้กว่า 370,000 ราย ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload) นอกจากนี้ตามโครงการเน็ตประชารัฐได้ติดตั้งจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตร่วมกัน และเมื่อรวมกับโครงการเน็ตประชารัฐที่ดำเนินการโดย กสทช. อีก 19,652 หมู่บ้าน ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 จะทำให้ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 74,965 หมู่บ้าน